ประวัติ ผศ.จ.บ.
สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตจันทบุรี เป็นหน่วยงานที่ย้ายมาจากอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เดิมเมื่อประมาณ พ.ศ.2504 อผศ. ได้จัดตั้งองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เขตสถานีทหารเรือสัตหีบ (อผศ.เขต สน.สส.) ที่อำเภอสัตหีบ สำนักงานตั้งอยู่ที่ด้านหลังโรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ โดยนาวาเอก หลวงยุทธกิจพิลาส เป้นผู้อำนวยการเขตคนแรก สำนักงานฯ แห่งนี้ได้เปิดทำการจนถึง พ.ศ.2516
เมื่อประมาณปี พ.ศ.2514 มีการล่วงล้ำอธิปไตยของประเทศ ตามแนวชายแดนด้านจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดตราด กระทรวงกลาโหม ได้มอบให้กองทัพเรือจัดกำลังพลไปปฏิบัติหน้าที่ที่จังหวัดจันทบุรีและจังหวัดตราด ในภารกิจป้องกันประเทศ กำลังพลที่ไปปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ไม่ได้รับความสะดวกในการรับการสงเคราะห์จากองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เขตสถานีทหารเรือสัตหีบ (อผศ.เขต สน.สส) เนื่องจากอยู่ห่างไกล ดังนั้น ผอ.อผศ. จึงดำริให้ย้ายหน่วยงาน อผศ.เขต สน.สส. ไปตั้งที่จังหวัดจันทบุรี โดยได้รับความกรุณาจากผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี (นายส่ง เหล่าสุนทร) ให้สร้างอาคารสำนักงานฯ อยู่ในเขตที่ดินของจวนผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุ เนื้อที่ประมาณ ๑ ไร่ ๕๓ ตารางวา และได้เปิดทำการ เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม 2516 ใช้ชื่อว่า องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกจันทบุรี โดยมี นาวาโท คันทรง นรินทร์ ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมผสมนาวิกโยธิน เป็นหัวหน้าสำนักงานฯ และ นาวาตรี อุทัย สุนทรสิงห์ เป็นรองหัวหน้าสำนักงานฯ ซึ่งย้ายมาจาก อผศ.เขต สน.สส. (สัตหีบ)
ใน พ.ศ.2518 อผศ. ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการจัดหน่วยงานขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกจากรูปแบบเดิม และปรับเปลี่ยนชื่อเรียกจาก องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกภาค องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกภาคมณฑลทหารบก และองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกจังหวัดทหารบกทั้งหมดให้เป็น "สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตจังหวัดที่ตั้งอยู่" มีฐานะเท่าเทียมกันทุกเขต ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน สำหรับองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกจันทบุรี ได้เปลี่ยนเป็นสำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตจันทบุรี (ผศ.จ.บ.) โดยมี ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 กองพลนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน เป็นหัวหน้าสำนักงานฯ โดยตำแหน่ง
ที่ตั้งสำนักงานฯ สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตจันทบุรี ตั้งอยู่เลขที่ 8/2 ถนนเลียบเนิน ตำบลวัดใหม่ อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น